การชำระภาษีสรรพสามิต
1. การขยายเวลาชำระภาษี
- กรณีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ห้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษี ภายใน 10 วันนับแต่วันที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม หรือคลังสินค้าทัณฑ์บน ในกรณีดังต่อไปนี้
- กรณีความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษี เกิดขึ้นในเวลานำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม หรือคลังสินค้าทัณฑ์บน
- กรณีความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดพร้อมความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- กรณีเมื่อความรับผิดเกิดพร้อมกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม หรือคลังสินค้าทัณฑ์บน ได้แก่สินค้าดังนี้
- เครื่องไฟฟ้านอกจากเครื่องปรับอากาศ
- แก้วและเครื่องแก้ว
- รถยนต์
- เรือ
- ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องสำอาง
- สินค้าที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมอาจขอชำระภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม หรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยมีหลักประกันดังนี้ ให้สินค้าดังต่อไปนี้เป็นสินค้าที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมอาจขอชำระภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยมีหลักประกันได้ ได้แก่
- เครื่องดื่มที่ทำหรือบรรจุหรือได้จากเครื่องขายเครื่องดื่ม
- เครื่องไฟฟ้า นอกจากเครื่องปรับอากาศ
- แก้วและเครื่องแก้ว
- รถยนต์
- เรือ
- ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องสำอาง
- พรมและสิ่งทอปูพื้นอื่นๆ
- รถจักรยานยนต์
- หินอ่อนและหินแกรนิต
- แบตเตอรี่
2. หลักเกณฑ์และวงเงินประกันค่าภาษี ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยื่นแบบรายการภาษี พร้อมกับการชำระภาษีภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยมีหลักประกัน ดังนี้
ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายใดประสงค์จะยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับการชำระภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยมีหลักประกัน ให้ปฏิบัติ ดังนี้
- ยื่นคำขอตามแบบ ภษ.01-15 ต่ออธิบดี หรือสรรพสามิตพื้นที่
- วางหลักประกันเป็นเงินสด พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรขององค์การรัฐบาล หนังสือค้ำประกันของธนาคาร โฉนดที่ดิน หรือวางหลักทรัพย์ หรือหลักประกันอื่นที่อธิบดีเห็นชอบ เป็นประกันค่าภาษีสำหรับสินค้าที่จะนำออกจากโรงอุตสาหกรรม หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนล่วงหน้า 1 เดือน
- การกำหนดวงเงินประกันค่าภาษี ให้คิดเฉลี่ยจากยอดค่าภาษีในระยะ 6 เดือนที่ล่วงมาแล้ว ในกรณีที่ไม่เคยนำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดวงเงินประกันค่าภาษีได้ตามความเหมาะสม และเมื่อครบ 6 เดือนแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว
- กำหนดในระยะประกันค่าภาษีมีเวลา 1 ปี นับแต่วันอนุมัติ
- อธิบดีมีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงวงเงินประกันค่าภาษีได้ตามที่เห็นสมควร
3. สินค้าที่เสียภาษีโดยใช้แสตมป์สรรพสามิต หรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี ได้แก่
- เครื่องดื่ม เว้นแต่ เครื่องดื่มที่ทำหรือบรรจุหรือได้จากเครื่องขายเครื่องดื่ม
- เครื่องปรับอากาศ
4. การคำนวณภาษี เนื่องจาก ภาษีสรรพสามิต = มูลค่า x อัตราภาษีสรรพสามิต ดังนั้น ความหมาย มูลค่า ตาม ม.8 ในกรณีต่างๆ ตามกฎหมายจึงสรุปได้ดังนี้
กรณีสินค้าผลิตในราชอาณาจักร ม.8(1)
วิธีการคำนวณภาษีที่ผลิตในราชอาณาจักร ม.8(1)
- ม.8(1) การเสียภาษีตามมูลค่า ให้ถือมูลค่าตามราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม โดยรวมภาษีสรรพสามิตที่พึงต้องชำระ
- ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม หมายถึง ต้นทุน + กำไร โดยที่ไม่รวมภาษี
- มูลค่า = ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาดไทย
- ภาษีสรรพสามิต = มูลค่า x อัตราภาษี
ดังนั้น ภาษีสรรพสามิต = (ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาดไทย) x อัตราภาษีสรรพสามิต
โดย มูลค่า คือ ราคาขายที่รวมภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทยที่พึงต้องชำระ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มูลค่า คือ ราคาที่รวมภาระภาษีสรรพสามิต และภาษีเพื่อมหาดไทยแล้ว ซึ่งจะเป็นราคาขายก่อนรวมภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง
แต่ถ้ายังไม่ทราบราคาดังกล่าวหรือราคาขาย ซึ่งจะพบในกรณีผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายใหม่หรือจะเริ่มผลิตสินค้าใหม่ ที่ยังไม่สามารถตั้งราคาที่รวมภาษีที่พึงต้องชำระ แต่ทราบแต่ราคาที่ยังไม่รวมภาษีสรรพสามิตพึงต้องชำระ (คือต้นทุน + กำไร เท่านั้น) สามารถคำนวณภาษีสรรพสามิตได้จากสูตร
สูตร ภาษีสรรพสามิต = (ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมที่ยังไม่รวมภาษี × อัตราภาษีสรรพสามิต)/(1-(1.1 × อัตราภาษีสรรพสามิต))
ดังนั้น หากทราบราคาขายสุทธิที่รวม VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้ว สามารถใช้ราคาดังกล่าว หัก VAT ออก ซึ่งเป็นราคาที่รวมถึงภาระภาษีสรรพสามิต และภาษีเพื่อมหาดไทยแล้ว ฉะนั้น จึงสามารถคำนวณภาษีสรรพสามิตได้ ดังนี้ ภาษีสรรพสามิต = มูลค่า X อัตราภาษีสรรพสามิต
หากยังไม่ทราบค่าภาษีสรรพสามิต แล้วจะคำนวณค่าภาษีได้อย่างไร ?
สูตรได้จากการแก้สมการเพื่อคำนวณค่าภาษีสรรพสามิต ดังนี้
ภาษีสรรพสามิต = มูลค่า x อัตราภาษี
ภาษีสรรพสามิต = (ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาดไทย) x อัตราภาษีสรรพสามิต
สมมุติสัญลักษ์ ภาษีสรรพสามิต = T , ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม = A , อัตราภาษี = R
แทนค่า
T = (A + T + 10%T) x R T = (A + T + 0.1T) x R T = (A + 1.1T)R T = AR + 1.1TR T - 1.1TR = AR T(1 - 1.1R) = AR T = AR/(1-1.1R)
ดังนั้น แทนค่าสัญลักษณ์ได้ดังนี้ ภาษีสรรพสามิต = (ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม × อัตราภาษี)/(1-(1.1 × อัตราภาษี)) จึงได้สูตรการคำนวณภาษี สำหรับกรณีที่ยังไม่ทราบมูลค่า ซึ่งทราบแต่ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม (ต้นทุน + กำไร) ที่ยังไม่รวมภาระภาษี จะคำนวณหาค่าภาษีสรรพสามิต ได้ดังนี้
สูตร ภาษีสรรพสามิต = (ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม × อัตราภาษี)/(1-(1.1 × อัตราภาษี))
กรณีสินค้านำเข้า ม.8(3) วิธีการคำนวณภาษีกรณีสินค้านำเข้า ม.8(3)
มูลค่า = ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า + อากรขาเข้า + ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน + ภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดใน พ.ร.ฎ. แต่ไม่รวมถึง VAT + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาดไทย
ดังนั้น ภาษีสรรพสามิต = (มูลค่า ดังกล่าว) x อัตราภาษีสรรพสามิต โดยสามารถแก้สมการในทำนองเดียวกับกรณีสินค้าผลิตในราชอาณาจักร จึงได้สูตรการคำนวณภาษีสรรพสามิต ดังนี้
สูตร ภาษีสรรพสามิต = ((C.I.F + อากรขาเข้า + ค่าธรรมเนียมอื่นไม่รวม VAT)× อัตราภาษีสรรพสามิต)/(1- (1.1 × อัตราภาษีสรรพสามิต) )
การคำนวณภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า การคำนวณภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า กรณีสินค้าผลิตในราชอาณาจักร
ภาษีสรรพสามิต = มูลค่า x อัตราภาษีสรรพสามิต หรือ ภาษีสรรพสามิต = (ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม × อัตราภาษีสรรพสามิต)/(1-(1.1 × อัตราภาษีสรรพสามิต))
5. การชำระภาษีสถานบริการ
รายการ | หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามกฎหมายปัจจุบัน |
---|---|
1. ผู้มีสิทธิ์ยื่น | ผู้ประกอบกิจการสถานบริการ |
2. สถานที่ยื่น | สำนักงานสรรรพสามิตพื้นที่หรือพื้นที่สาขาแห่งท้องที่ที่สถานบริการนั้นตั้งอยู่ |
3. ยื่นต่อ | เจ้าพนักงานสรรพสามิต |
4. อัตราค่าธรรมเนียม | ไม่มีอัตราค่าธรรมเนียม |
5. แบบคำขอ+เอกสารประกอบ | แบบรายการชำระภาษีสรรพสามิต แบบ ภษ.01-12ก พร้อมรายละเอียดสินค้า |
6. ผู้มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาต | เจ้าพนักงานสรรพสามิต |
7. ขั้นตอนการดำเนินการ | 1.ยื่นแบบรายการภาษีสรรพสามิต แบบ ภษ.01-12ก พร้อมรายละเอียดของการบริการ งบเดือนแสดงรายการรายรับของสถานบริการ(ภษ.01-42ก) พร้อมด้วยเงินค่าภาษีที่ต้องชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้น
2.การชำระภาษีสามารถชำระด้วย -เงินสด -แคชเชียร์เช็ค -บัตรภาษี -เช็คประเภท ง. (เช็คที่ผู้มีหน้าที่ชำระเงินผลประโยชน์เป็นผู้สั่งจ่ายและใช้ชำระโดยตรง กรณีนี้ต้องขออนุมัติกรมสรรพสามิตก่อน)
|
8. ระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณา | 10 นาที/1 แบบรายการ |
- ดูเอกสารแบบรายการภาษีสรรพสามิต ตามมาตรา 48
- ดูเอกสารแบบรายการภาษีสรรพสามิต ตามมาตรา 48(2)